左 กับ 右 — สองข้างที่ต่างกัน

February 20, 2010 at 6:20 pm (Languages)

สำหรับหลายๆ คนแล้ว กระดูกชิ้นโตที่ขวางเส้นทางการเรียนภาษาญี่ปุ่นก็คงจะไม่พ้นการเรียนอักษรค้นจิ นอกจากจะต้องจดจำอักษรที่แตกต่างกันนับพันตัวแล้ว แต่ละตัวยังมีคำอ่านได้หลายแบบขึ้นอยู่กับตัวอักษรรอบข้างอีกด้วย แม้แต่ประเทศต้นกำเนิดตัวอักษรนี้อย่างประเทศจีนก็ยังไม่กำหนดคำอ่านหลายๆ แบบให้มันวุ่นวายขนาดนั้น (แน่ล่ะว่ามีกรณียกเว้นเหมือนกัน แต่เท่าที่ผมรู้ก็น่าจะน้อยมากๆ)

ส่วนตัวผมเอง ผมยังคงสนุกกับการเรียนรู้ตัวอักษรใหม่ๆ อยู่ คงเหมือนช่วงฮันนีมูนที่อะไรๆ ก็ยังใหม่อยู่ ดูน่าตื่นเต้นน่าค้นหาไปซะหมด นานๆ ไปแล้วเมื่อความตื่นเต้นมันจางหายไป สิ่งที่เหลืออยู่ก็อาจจะเป็นแค่วัตรปฏิบัติรายวันที่น่าเบื่อเท่านั้น จะเป็นยังงั้นหรือเปล่าก็คงต้องปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์กันอีกที

คนที่หัดเขียนตัวคันจิรู้ดีว่าสิ่งที่สำคัญอันหนึ่งที่ต้องฝึกฝนและจดจำคือลำดับการเขียนเส้น การฝึกลำดับการเขียนเส้นให้คล่องแคล่วและแม่นยำจะทำให้เขียนได้เร็วและจดจำตัวอักษรได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ถ้าไม่ใส่ใจ เขียนไปตามมีตามเกิด มันก็จะกลายเป็นเหมือนมวยวัด ต่อยสะเปะสะปะไม่มีรูปแบบ ยากที่จะขึ้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้นไปได้

ผมเองก็พยายามจะฝึกลำดับการเขียนเส้นตามรูปแบบมาตรฐานของญี่ปุ่นเหมือนกัน แต่บางทีก็ต้องเจออะไรแปลกๆ ที่ทำให้ผมต้องกลับมานั่งงงว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างงี้วะ…

ตัวอย่างหนึ่งที่ผมแปลกใจมากก็คือสองตัวนี้ — 左 (hidari) กับ 右 (migi) ซึ่งแปลว่า “ซ้าย” กับ “ขวา”

อักษรทั้งสองนี้ดูเผินๆ ก็ไม่ต่างกันมาก มีเส้นแนวนอนด้านบน มีเส้นแทยงทางซ้าย ที่ดูจะต่างกันก็แค่ 左 มีตัว H ตะแคงอยู่ด้านล่าง ส่วน 右 มีกล่องสี่เหลี่ยมอยู่ที่เดียวกัน ก็เท่านั้น

ผมเปิดหนังสือคัดตัวอักษรคันจิดู ตัว 左 มีลำดับการเขียนเส้นแบบนี้


(รูปจาก [1])

เริ่มจากการเขียนเส้นแนวนอนด้านบนก่อน ตามด้วยเส้นแทยงทางซ้ายมือ แล้วก็เส้นที่เหลือ

ส่วนตัว 右 มีลำดับแบบนี้


(รูปจาก [1])

เริ่มจากเส้นแทยงก่อน แล้วตามด้วยเส้นแนวนอนด้านบน แล้วก็เส้นที่เหลือ

เฮ่ย! นี่มันอะไรกัน?

ตัวอักษรสองตัวที่มีรูปแบบคล้ายๆ กัน ความหมายเกี่ยวข้องกัน ทำไมมีลำดับที่ต่างกันได้

ผมปล่อยให้ตัวเองงงอยู่หลายอาทิตย์ ก่อนที่จะหายโง่ นึกได้ว่าผมยังมี Google เป็นเพื่อน ก็เลยลองค้นดูซักหน่อยว่ามันเป็นเพราะอะไร

คำอธิบายแรกที่เจอ คือ จริงๆ แล้วถึงแม้สองเส้นแรกจากทั้งสองตัวจะดูคล้ายๆ กัน แต่ความจริงมันไม่เหมือนกัน ตัว 左 เส้นแทยงจะยาวกว่าเส้นนอน ในขณะที่ตัว 右 เส้นนอนจะยาวกว่าเส้นแทยง และเค้าให้เขียนเส้นที่สั้นกว่าก่อน

ทำไมหว่า? คำว่าซ้ายกับคำว่าขวา ความหมายก็เกี่ยวข้องกัน ทำไมต้องเขียนให้มันต่างกันแบบนั้น ผมจึงค้นต่อไป และเจอข้อมูลเพิ่มเติมที่คลายความข้องใจของผมได้ในที่สุด

จากรูปภาพที่เขียนลงบนกระดาษทิชชู่โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรจีน และมีคนสแกนเอามาลงบนเว็บบอร์ด [2] ไว้


(รูปจาก [2])

อักษรทั้งสองตัวนี้มีต้นกำเนิดจากตัวอักษรโบราณที่พยายามเลียนแบบรูปมือซ้ายและมือขวาเมื่อหลายพันปีก่อน ในเวลาต่อมาทางฝั่งมือขวาก็มีการเติมรูปถ้วยชามลงไป เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นมือที่เอาไว้ใช้ส่งอาหารเข้าปาก และคงจะเพื่อความสมดุล จึงได้มีการเติมสัญลักษณ์แทนเครื่องมือวัด (เช่นไม้บรรทัด) เข้าไปทางฝั่งมือซ้าย วิวัฒนาการของตัวอักษรทำให้หลายพันปีต่อมา แขนของมือขวาและนิ้วของมือซ้ายกลายเป็นเส้นแนวนอนด้านบน และเพราะแขนมันยาวกว่านิ้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเส้นแนวนอนกับเส้นแทยงของคำว่าขวาและคำว่าซ้ายจึงต่างกัน

จึงอธิบายได้เช่นนี้แล

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

[1] Miller, A. R., Kanji Stroke Order, http://infohost.nmt.edu/~armiller/japanese/strokeorder.htm

[2] Eyedunno, Wakan Project Website, Post Topic “Kanji Stroke Order”, http://wakan.manga.cz/forum/viewtopic.php?t=836

Permalink 2 Comments

“ก็บอกแล้วว่าจะลงเอยยังไง” — ภาษากับมูลค่าของสรรพนาม

February 17, 2010 at 10:10 pm (Languages)

“ก็บอกแล้วว่าจะลงเอยยังไง” เอกพูดกับก้องอย่างไม่ค่อยพอใจนัก คำพูดของเอกสะกิดต่อมโทสะของก้องที่กำลังอารมณ์ขุ่นมัวอยู่ไม่แพ้กัน

“ก็ไม่คิดนี่หว่าว่าจะโดนหักหลังแบบนี้”

น่าแปลกใจที่ทั้งสองประโยคในเครื่องหมายคำพูดไม่มีการระบุเลยแม้แต่น้อยว่าใครบอกใคร ใครคิดอะไร หรือใครโดนใครหักหลัง แต่คนอ่านกลับไม่น่าจะมีปัญหามากนักกับการอนุมานว่าใครเป็นใครในประโยคทั้งสองนี้

[ใคร]ก็บอก[ใคร]แล้วว่า[อะไร]จะลงเอยยังไง

ก็[ใคร]ไม่คิดนี่หว่าว่า[ใคร]จะโดน[ใคร]หักหลังแบบนี้

ลองใช้เวลาซักนิดนึงนึกดูว่าอะไรเป็นอะไร ใครคือบุคคลในวงเล็บ จริงอยู่ว่าเราอาจจะไม่สามารถตีความได้ทั้งหมดเนื่องจากบริบทไม่ครบถ้วน แต่ความเป็นจริงก็คือ ขณะที่เราอ่านไปนั้น เราก็เติมคำในช่องว่างไปด้วยโดยอัตโนมัติ กลไกนี้เป็นไปโดยธรรมชาติและทำให้ประโยคสมบูรณ์อยู่ในหัวของเรา มีประธานและกรรมครบถ้วน

ทีนี้ลองนึกถึงประโยคใจความเดียวกันนี้ในภาษาอังกฤษดู

I‘ve already told you how it would end up!

But I never thought they would backstab us like this.

แล้วลองตัดสรรพนามทิ้งไป

Have already told how would end up!

But never thought would backstab like this.

ฟังดูกลายเป็นประโยคพิการไปซะงั้น ขาดความชัดเจนว่าใครทำอะไร ทั้งๆ ที่ประโยคต้นฉบับในภาษาไทยก็ค่อนข้างจะชัดเจนถึงแม้จะไม่มีสรรพนามเหมือนกัน

ผมคิดว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของความคุ้นเคยซะมากกว่าที่ทำให้ประโยคเดียวกันในภาษาอังกฤษฟังดูงงๆ เวลาที่ตัดสรรพนามทิ้งไป ภาษาอังกฤษใช้สรรพนามค่อนข้างฟุ่มเฟือย ต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้กระทำ ใครเป็นผู้ถูกกระทำ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันก็ชัดเจนอยู่ในบริบทอยู่แล้ว ในขณะที่ภาษาไทย เราสามารถละสรรพนามได้เมื่อมันชัดเจนแล้วว่าใครหรืออะไรเป็นผู้เกี่ยวข้องในประโยค

อาจจะพูดได้ว่า สรรพนามในภาษาไทยราคาแพงกว่าสรรพนามในภาษาอังกฤษ เวลาใช้เราเลยต้องประหยัดกันซักหน่อย ในขณะที่ฝรั่งแจกสรรพนามกันเป็นว่าเล่นราวกับว่ามันไม่มีราคาแต่อย่างใด

นี่น่าจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความใกล้เคียงกันของภาษาไทยกับภาษาญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นภาษาที่ประหยัดคำเอามากๆ [1] และจะด้วยเหตุเพราะค่าครองชีพสูงหรืออะไรก็ตาม ผมเข้าใจว่าสรรพนามในภาษาญี่ปุ่นราคาแพงยิ่งกว่าของภาษาไทยซะอีก ถ้าลองอ่านข้อความทั้งหมดที่ผมเขียนมาจนถึงตอนนี้ ผมว่าผมเองก็ยังใช้สรรพนามค่อนข้างเยอะทีเดียว ในทางกลับกัน ประโยคในภาษาญี่ปุ่นเราจะพบสรรพนามน้อยมากถึงมากที่สุด แต่ด้วยบริบท ใจความของประโยคก็ยังคงชัดเจนอยู่ ไม่ได้คลุมเครือแต่อย่างใด

จะว่าไปก็คงจะไม่ผิดนักถ้าจะพูดว่า ทั้งภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่นนิยมการละสรรพนาม ความแตกต่างกันก็คือ ภาษาไทยเลือกที่จะละสรรพนามได้ถ้ามันชัดเจนอยู่แล้ว แต่การละมากๆ อาจจะทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติได้ ในขณะที่ภาษาญี่ปุ่นเลือกที่จะเติมสรรพนามได้ถ้าต้องการ (ในกรณีที่มันชัดเจนอยู่แล้ว) แต่การเติมมากๆ ก็ทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติเช่นกัน

จริงๆ ผมก็อยากจะเขียนสองประโยคข้างต้นนั้นเป็นภาษาญี่ปุ่นไว้เป็นตัวอย่างด้วยเหมือนกัน แต่ด้วยความอ่อนชั้นของผมในตอนนี้ ก็คงต้องยกไปโอกาสอื่นๆ แล้วล่ะครับ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

[1] Rubin, J. Making Sense of Japanese: What the Textbooks Don’t Tell You. Kodansha International, 1998.

Permalink 3 Comments

บันทึกเรื่อยเปื่อยกับการเรียนภาษาญี่ปุ่น

February 17, 2010 at 1:36 am (Languages)

ผมเพิ่งจะหัดภาษาญี่ปุ่นจริงๆ จังๆ ได้ไม่นาน ด้วยความที่เป็นคนรักการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ ผมตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่ายังไงก็จะต้องอ่านการ์ตูนกับดูอนิเมแบบสดๆ โดยไม่ต้องพึ่งคำแปลหรือซับไตเติ้ลใดๆ ภายในปีสองปีนี้ให้ได้

แต่การใช้ชีวิตที่สิงคโปร์ทำให้ผมต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นผ่านภาษาอังกฤษอีกที เพราะตำราภาษาไทยมันไม่มีขายที่นี่ หนังสือเล่มหลักที่ผมใช้คือ げんき (genki) ซึ่งเป็นหนังสือเรียนที่หลายๆ คนแนะนำในตอนนี้ ผมซื้อหนังสือมานานแล้วล่ะ แต่ถึงตอนนี้ผมก็ยังอยู่แค่บทที่ 4 อยู่เลย (จาก 12 บทของเล่ม 1 ของระดับเบื้องต้น) ข้อจำกัดของการเรียนด้วยตัวเองก็คือไม่มีอะไรมาคอยบังคับให้ต้องเรียนนี่แหละ ผมก็เลยอู้ซะมาก ไม่ค่อยคืบหน้าซักเท่าไหร่

เท่าที่ศึกษามาจนถึงตอนนี้ (แค่ 4 บทนี่แหละ กับที่อ่านเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ บ้าง) ผมรู้สึกว่าภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไทยมันมีความใกล้เคียงกันมากกว่าภาษาญี่ปุ่นกับภาษาอังกฤษ การแปลจากภาษาญี่ปุ่นมาเป็นภาษาไทยมีความเป็นธรรมชาติมากกว่าการแปลไปเป็นภาษาอังกฤษ คำแปลภาษาไทยดูจะรักษารายละเอียดของภาษาต้นฉบับได้ดีกว่า

สาเหตุหนึ่งก็น่าจะมาจากวัฒนธรรมทางภาษาที่ใกล้เคียงกันมากกว่า ภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับระดับของภาษามาก ภาษาที่ใช้กับบุคคลต่างระดับกันก็จะต่างกันไปด้วย ในขณะที่ภาษาอังกฤษจะมีลักษณะความเป็นกลางๆ มากกว่า นอกจากนี้ ภาษาไทยยังมีคำประดับที่โดยตัวมันเองไม่ได้มีความหมายซักเท่าไหร่อยู่พอสมควร เช่น คำว่า “นะ” “ล่ะ” คำพวกนี้ใช้เติมท้ายประโยคและแสดงความรู้สึกของผู้พูดที่มีต่อประโยคนั้นๆ ซึ่งถ้าต้องแปลไปเป็นภาษาอังกฤษก็มักจะเสียรายละเอียดตรงนี้ไป (ภาษาอังกฤษดูจะใช้น้ำเสียงในการแสดงอารมณ์ซะมากกว่า แต่น้ำเสียงคงจะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือค่อนข้างลำบาก) ภาษาญี่ปุ่นเองก็มีคำเติมท้ายแบบนี้เหมือนกัน และหลายๆ คำก็ดูจะถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยได้ใกล้เคียงทีเดียว

อย่างเช่นประโยคง่ายๆ อันนี้

この花はきれいですね。
(kono hana wa kirei desu ne)

เทียบกับคำแปลภาษาอังกฤษที่พยายามจะรักษาความหมายและอารมณ์ของประโยคต้นฉบับเอาไว้

As for this flower, it is beautiful, isn’t it?

ผมคิดว่าคงไม่มีฝรั่งที่จะพูดแบบนี้ในชีวิตจริงซักเท่าไหร่ ในขณะที่คำแปลภาษาไทย

ดอกไม้ดอกนี้น่ะ สวยเนอะ

ก็ยังฟังดูค่อนข้างเป็นธรรมชาติสำหรับผม

ผมไม่เคยอ่านหนังสือเรียนภาษาญี่ปุ่นฉบับภาษาไทย ก็เลยไม่ค่อยแน่ใจนักว่าปกติเค้าจะสอนกันแบบไหน แต่ผมคิดว่าถ้าผมเจออะไรที่มันดูจะเข้ากับภาษาไทยได้ดี ผมก็จะเอามาบันทึกไว้ตรงนี้ น่าจะช่วยให้ผมเรียนภาษาญี่ปุ่นได้เร็วขึ้นด้วย

แต่แน่ล่ะ ผมเองก็เพิ่งจะเริ่มเรียน ยังเดินเตาะแตะอยู่เลย ที่เขียนมาก็เป็นแค่ความเห็นของผมเอง อาจจะมีอะไรที่ผมตีความผิดไปก็ได้ ถ้ามีใครเห็นว่าอะไรไม่ถูกต้อง ผมก็อยากจะขอให้ช่วยชี้แนะด้วยล่ะครับ

Permalink 1 Comment